ค้นหาใน GOOGLE.CO.TH
ค้นหาใน สตส.พช.










 



 

ติดต่อเรา ร้องเรียน ร้องทุกข์
สตท.6
สตส.พิจิตร
สตส.สุโขทัย
สตส.พิษณุโลก
สตส.นครสวรรค์
สตส.อุตรดิตถ์
 
 
14จุดสุดประทับใจ .. เที่ยวในเมืองเพชรบูรณ์
14 Impressions.. Phetchabun City Tour

ติดต่อขอรับบริการนำเที่ยวเป็นหมู่คณะได้ที่ ศูนย์บริการการท่องเที่ยว เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ (Tourist Service Center)
ที่หอโบราณดคีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (ศาลากลางเก่า) โทรศัพท์ 056-721-523 .. ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ !!

1. พุทธอุทยานเพชบุระ(Pechabura Buddhist Park) เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติ ฯ ซึ่งสร้างจำลองมาจากพระพุทธมหาธรรมราชาพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ที่วัดไตรภูมิ เป็นมหาพุทธานุสรณ์ ที่ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างเป็นจุดศูนย์ร่วมจิตใจของคนเพชรบูรณ์ นอกจากนั้น ยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษาในพ.ศ. 2554 องค์พระฯหล่อด้วยโลหะทองเหลืองบริสุทธิ์หนักกว่า 45 ตันที่ปลายยอดจุลมงกุฎหล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก 126 บาท องค์พระสูง 16.599 เมตร สูงจากพื้นดิน 35 เมตร ขนาดหน้าตัก 11.984 เมตร ซึ่งมีความหมายว่า 1หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์หนึ่งในดวงใจของชนชาวไทยทั้งประเทศ 1 หมายถึงพระพุทธมหาธรรมราชา ซึ่งมีเพียงองค์เดียวในโลกที่อัญเชิญมาประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเพชรบูรณ์ 9 หมายถึง รัชกาลที่9 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ 84 หมายถึงวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงเจริญพระชนมายุ 84พรรษา ในวันที่ 26กันยายน 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจาก 9ประเทศไว้ที่ปลายยอดจุลมงกุฎและเบิกพระเนตรองค์พระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติฯ ณ พุทธยานเพชบุระ

2. หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (PhetchabunIntrachai Archaeology Hall) เป็นการปรับปรุงศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์หลังเก่าให้เป็นหอโบราณคดีที่จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของจังหวัดเพชรบูรณ์แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 จัดแสดงเป็น ห้องโถงต้อนรับ ห้องกาแฟและห้องว่าด้วยของกินในเพชรบูรณ์ ชื่อว่า ห้องครัวเพชรบูรณ์ ระยะ 2 จะเป็นการจัดแสดงเรื่องราวของเพชรบูรณ์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงยุคศรีเทพระยะ 3 จะจัดแสดงในช่วงต่อมาคือ สมัยสุโขทัย อยุธยาและรัตนโกสินทร์ จนถึงยุคร่วมสมัย มีห้องสมุดทางวัฒนธรรมของเพชรบูรณ์และห้องจัดนิทรรศการหมุนเวียน สำหรับชื่อ เพ็ชรบูรณ์อินทราชัยนั้น เป็นพระนามของเจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสอันดับที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นยังเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการการท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ (Tourist ServiceCenter) อีกด้วย

3. ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ (Phetchabun City Pillar Shrine) มีลักษณะเป็นศาลาทรงไทยตรีมุขเป็นที่ตั้งเสาหลักเมืองแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำด้วยหิน ซึ่งในการบูรณะศาลหลักเมืองเมื่อปีพ.ศ.2548 ได้พบว่าเสาหลักเมืองนั้นเป็นศิลาจารึกอักษรขอมเขียนเป็นภาษาสันสกฤตเล่าเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์1 ด้านและศาสนาพุทธ 3 ด้าน ตัวเสาหลักเมืองเป็นแท่งเสาหินทรายสีเทามีลักษณะปลายป้านโค้งมน มีความสูงจากฐานล่างจนถึงปลายยอดยอด 184 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร ความหนาประมาณ 15-16 เซนติเมตร สันนิฐานว่า น่าจะอัญเชิญมาจากเมืองศรีเทพตั้งแต่ครั้งโบราณและมาประดิษฐานที่วัดมหาธาตุก่อน แล้วจึงอัญเชิญมาตั้งเป็นเสาหลักเมืองเมื่อ พ.ศ. 2443 จากการลอกลายอักษรและอ่านโดยกรมศิลปากรพบว่าศิลาจารึกนี้ มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่16จึงนับว่าเป็นเสาหลักเมืองที่ทรงคุณค่าและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอายุนับพันปี ซึ่งชาวเพชรบูรณ์ให้ความศรัทธา เคารพสักการะและเชื่อถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด ผู้ที่สนใจ สามารถชมตัวอักษรบนเสาหลักเมืองคำอ่าน และคำแปล ได้ที่หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์

4. หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ (Nakornban Phetchabun Cultural Hall) เป็นการปรับปรุงศาลาประชาคมจังหวัดเพชรบูรณ์เดิม โดยเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ให้เป็นอาคารขนาดใหญ่เพื่อเป็นสถานที่ รวบรวม จัดแสดง ถ่ายทอด เรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของเพชรบูรณ์ เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และคิดค้นองค์ความรู้ใหม่เพื่อการพัฒนาด้านวัฒนธรรมเพื่อช่วยเสริมสร้างให้ประชาชนเรียนรู้วัฒนธรรมและมีสำนึกรักท้องถิ่นของตนเองและเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย อาคารแบ่งเป็นสามส่วนส่วนแรกคือห้องประชุม มีเวทีสามารถจัดกิจกรรมและการแสดงต่าง ๆ ส่วนที่สองคือส่วนที่เป็นห้องโถงไว้สำหรับจัดแสดงนิทรรศการส่วนที่สามคือ เวทีและลานสำหรับจัดกิจกรรมกลางแจ้ง

5. ประติมากรรมมะขามหวาน (Model of Sweet Tamarind) สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดสัญลักษณ์"เพชรบูรณ์ เมืองมะขามหวาน” เป็นจุดถ่ายรูปของนักท่องเที่ยวเมื่อได้เดินทางมาถึงเพชรบูรณ์แล้ว เป็นประติมากรรมมะขามหวานพันธุ์หมื่นจงมีลักษณะฝักโค้งและผอมเพราะมะขามหวานหมื่นจงเป็นมะขามหวานพันธุ์แรกที่ปลูกในเพชรบูรณ์ ต้นเก่าแก่ดั้งเดิมอยู่ที่อำเภอหล่มเก่า มะขามหวานที่นิยมปลูกกันมากในจังหวัดเพชรบูรณ์นอกจากพันธุ์หมื่นจงแล้ว ยังมีพันธุ์สีทอง ประกายทอง น้ำผึ้ง ศรีชมพูอินทผลัม ฯลฯ ด้านหลังประติมากรรมยังมีป้ายข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับมะขามหวานให้ผู้ที่สนใจได้อ่านและศึกษาอีกด้วย

6. หอประวัติศาสตร์เพชบุระ(Pechabura Historical Hall) เดิมเป็นที่ตั้งของจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ได้ปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะกลางเมือง ชื่อว่า "สวนสาธารณเพชบุระ” (เพ-ชะ-บุ-ระ)ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของเพชรบูรณ์ ตามที่ปรากฏในจารึกบนลานทองคำที่ค้นพบในกรุเจดีย์วัดมหาธาตุซึ่งมีความหมายว่าเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร ภายในสวนฯ มี ลานเอนกประสงค์ขนาดใหญ่และเวทีสำหรับจัดงานต่างๆ มีลานออกกำลังกาย ศูนย์ออกกำลังกาย ประติมากรรมเมืองอยู่สบาย ส่วนตัวอาคารจวนผู้ว่า ฯ เก่าได้จัดทำเป็นหอประวัติศาสตร์รวบรวมประวัติบุคคลสำคัญ เหตุการณ์สำคัญ ภาพในอดีตของเพชรบูรณ์ห้องสมุดข้อมูลเพชรบูรณ์ เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ได้ขุดค้นพบในเพชรบูรณ์รวมทั้งของที่ประชาชนทั่วไปได้บริจาคมาร่วมจัดแสดงด้วย

7. หอภูมิปัญญาและวิถีชาวบ้านเพชรบูรณ์ (Hall of Phetchabun Wisdom and Folkways) เป็นอาคารสำนักงานการชาดเก่าที่อยู่ในบริเวณสวนสาธารณะเพชบุระได้จัดเป็นหอแสดงภูมิปัญญาและวิธีชีวิตคนเพชรบูรณ์แบ่งเป็นเรื่องการทำมาหากินอาชีพดั้งเดิมของคนเพชรบูรณ์ 6 เรื่องด้วยกัน คือ ข้าว ข้าวโพด มะขามหวาน ใบยาสูบ การหาของป่าและวิถีชีวิตริมแม่น้ำป่าสัก พร้อมทั้งเครื่องมือทำมาหากินและเครื่องมือที่ใช้ในชีวิตประจำวันโดยจัดเป็นห้องนิทรรศการที่ทันสมัย สวยงามและมีคุณค่ายิ่ง

8. วัดมหาธาตุ พระอารามหลวง (Mahathad Royal Temple) เป็นวัดเก่าแก่ที่สุดคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยด้านหลังโบสถ์มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สูงประมาณ 8 วาเศษ เมื่อพ.ศ. 2510 ได้มีการขุดค้นเจดีย์ พบจารึกลานทองในท้องหมูสำริดจารึกว่า "พระเจ้าเพชบุร” เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ.1926 และยังพบพระพุทธรูปสมัยต่างๆเช่น ทวาราวดี ลพบุรีสุโขทัย อู่ทอง และพระเครื่องเนื้อชินพิมพ์ต่าง ๆ มากมายเช่น ร่มโพธิ์ เปิดโลกนาคปรก นางพญา ซุ้มเรือนแก้ว ซุ้มประตูชัย ฯลฯ นอกจากนั้น ยังเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชรมีชัยที่ตามพงศวดารระบุว่า พระยาจักรี (รัชกาลที่ 1) ในขณะนั้นได้เคยมานมัสการในขณะเดินทัพมาพักที่เพชรบูรณ์ วัดมหาธาตุเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองมีความสำคัญต่อเมืองเพชรบูรณ์มาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

9. วัดไตรภูมิ (Triphum Temple) เป็นวัดกลางเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก มีอายุกว่า 400 ปี อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธมหาธรรมราชาพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่อัญเชิญมาประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางสมาธิ ศิลปะขอม หน้าตักกว้าง 13นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน หล่อด้วยทองสำริด ทรงชฎาเทริดดูน่าเกรงขาม เข้มขลัง งดงามมาก เป็นพระพุทธรูปที่คนเพชรบูรณ์เชื่อกันว่า พระเจ้าชัยวรมันที่7 พระราชทานให้แก่พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด เพื่อเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเมื่อครั้งที่พ่อขุนผาเมืองทรงอภิเษกกับพระราชธิดาพระนางสิงขรเทวี ภายในวัดไตรภูมิยังมีเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูงประมาณ9 เมตร และมีความยาวรอบฐาน 9 เมตร ในอดีต ท่าน้ำหน้าวัดไตรภูมิยังเป็นท่าน้ำที่เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญเป็นที่ตั้งของตลาดเมืองเพชรบูรณ์เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันมาแต่โบราณกาล

10. กำแพงเมืองและหอนิทรรศน์กำแพงเมืองเพชรบูรณ์(Phetchabun WallExhibition Hall) ลักษณะกำแพงก่ออิฐถือปูนที่ประตูเมืองมีหินทรายและศิลาแลงประกอบบางส่วน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยกลางกรุงศรีอยุธยามีรูปร่างสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวด้านละ 500 เมตร มีป้อมปราการทั้งหมด 4 ป้อมคือป้อมศาลเจ้าพ่อ ป้อมศาลเจ้าแม่ ป้อมหลักเมือง และป้อมที่ยังสมบูรณ์ที่สุดคือป้อมสนามชัย ยังคงมีซากประตูเมืองอยู่ 2 ด้านคือประตูชุมพลทางทิศตะวันตกที่ถนนเพชรรัตน์และประตูดาวทางทิศตะวันออกที่ข้างวัดประตูดาว กำแพงเมืองเพชรบูรณ์มีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือ ตัวป้อมแต่ละมุมจะยื่นไปนอกแนวกำแพงเรียกว่าเป็นการสร้างป้อมแบบหัวธนู ส่วนหอนิทรรศน์กำแพงเมือง เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงรายละเอียดการสร้างกำแพงเมืองโบราณของเพชรบูรณ์ 2 ยุคสมัยด้วยกัน คือ สมัยสุโขทัยและอยุธยา ภายในหอฯ นอกจากจะมีข้อมูลเกี่ยวกับวัดโบราณและตำนานพื้นบ้านที่ร่วมสมัยกับกำแพงเมืองเพชรบูรณ์แล้ว ยังมีข้อมูลความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกำแพงเมืองในที่ต่างๆ อีกด้วย ส่วนอาคารด้านนอกจะสร้างโดยใช้ลักษณะแบบป้อมกำแพงเมืองที่มีใบบังและใบเสมาตามหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งสามารถเดินรอบและขึ้นไปชั้นบนเพื่อดูวิวทิวทัศน์ อย่างป้อมกำแพงเมืองจริงๆ ได้

11. วัดเพชรวรารามพระอารามหลวง (Phet-wararam Royal Temple) เป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่ง ที่สมเด็จพระสังฆราชฯ เสด็จฯมาเยี่ยมและเผยแพร่ธรรมถึง3พระองค์ และเป็นวัดที่มีพระอุโบสถที่งดงามยิ่ง มีสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกนักธรรมและแผนกบาลีภายในวัดมีสวนป่าสวยงาม ร่มรื่น เป็นแหล่งเรียนรู้ทางพฤกษศาสตร์และเหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมและพักผ่อนหย่อนใจเพื่อกล่อมเกลาจิตใจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2521และนอกจากนี้ภายในวัดยังมีปูชนียสถานที่สำคัญ คือ มณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธบาทจำลอง และพระไพรีพินาศ

12. วงเวียนอนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์(NakornbanPhetchabun Memorial Circle) จัดสร้างขึ้นโดยจำลองจากเสาหลักเมืองนครบาลฯที่เมื่อพ.ศ. 2486-2487 สมัยสงครามโลกครั้งที่2 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ออกพระราชกำหนดย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เพชรบูรณ์โดยใช้ชื่อว่า "นครบาลเพชรบูรณ์”เพราะเห็นว่าเพชรบูรณ์นั้นมีเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม อากาศดี อยู่ใจกลางประเทศ มีภูเขาล้อมรอบและมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว และได้ดำเนินการอพยพราษฎรมาตั้งหลักแหล่งที่เพชรบูรณ์พร้อมกับย้ายที่ทำการรัฐบาลตลอดจนสถานที่ราชการต่าง ๆ มาตั้งที่เพชรบูรณ์ และได้ทำการปักเสาหลักเมืองหลวงไว้ที่บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก เสาหลักเมืองนี้ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ฐานล่างประกอบด้วยไม้มงคล 8 อย่าง นอกจากนั้นยังปรากฏหลักฐานว่าได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่เพชรบูรณ์อีกด้วย แต่ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติให้พระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์เป็นพระราชบัญญัติแต่ด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36 ด้วยเหตุผลที่ว่า”เพชรบูรณ์เป็นดินแดนกันดาร มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีไข้ป่าชุกชุม ...”การสร้างเมืองหลวงใหม่จึงถูกยกเลิกไป ... อนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์แห่งนี้จึงสร้างขึ้นเป็นเพื่อรำลึกถึงบุญคุณและอัจฉริยภาพของจอมพลป.พิบูลสงคราม และเพื่อคนเพชรบูรณ์จะได้ภูมิใจในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งและความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองตน

13. หอนาฬิกาแชมป์โลกคู่แฝด(Clock Tower of the Twin World Champion Boxers) เป็นอนุสรณ์แก่แชมป์โลกคู่แฝดชาวเพชรบูรณ์เขาค้อ และเขาทราย แกแลคซี่ โดยเขาทรายแกแลคซี่ เป็นแชมป์โลกรุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท ของสมาคมมวยโลก (WBA) เป็นแชมป์โลกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2527 ชกป้องกันตำแหน่งชนะ 19 ครั้ง โดยไม่เสียตำแหน่ง ก่อนแขวนนวม 1 กุมภาพันธ์ 2535 สมาคมมวยโลกยกย่องให้เป็นนักชกยอดเยี่ยมแห่งปี พ.ศ. 2532 นักชกยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษเมื่อ พ.ศ.2533 และรางวัล "WORLDBOXING HALL OF FRAME” บรรจุชื่อไว้ในหอเกียรติยศนักมวยที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกของWBA ณ เมืองคานาสโตต้า สหรัฐอเมริกา ส่วนเขาค้อ แกแลคซี่เป็นแชมป์โลกรุ่นแบนตั้มเวท ของสมาคมมวยโลก และเป็นแชมป์รุ่นนี้คนแรกของไทยได้แชมป์โลกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2531ซึ่งทั้งสองคนได้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นอย่างมากโด่งดังไปทั้งประเทศในฐานะที่เป็นแชมป์โลกคู่แฝดในเวลาเดียวกัน

14. สวนสาธารณะหนองนารี(Nong-Naree Public Park) เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่เป็นแหล่งพันธุ์พืช ประเภทบัวนานาชนิด แหล่งพันธุ์ปลาต่างๆ ตลอดจนนกหลากหลายสายพันธุ์ทั้งนกประจำถิ่นและนกที่อพยพจากถิ่นอื่น เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ออกกำลังกายสถานที่จัดงานประเพณีและกีฬา รวมทั้งกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังได้จัดทำอุทยานวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในทุก ๆ ด้าน เช่น เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ดาราศาสตร์พืชศาสตร์ บรรพชีวิน พลังงาน สิ่งแวดล้อม ธรณีวิทยา แสงเลเซอร์ และมีท้องฟ้าจำลองหอดูดาว โรงหนัง 3 มิติ อุทยานบัวสวนพฤกษศาสตร์ ฯลฯ .. ชื่อหนองนารีนั้น มีที่มาจากการทำนาที่ได้ปั้นคันนาเป็นรูปโค้งรี ๆ ไม่ตัดตรงแบบคันนาที่อื่น ๆ จึงเรียกว่า บ้านนารีต่อมาเมื่อสมัยนครบาลเพชรบูรณ์ได้มีการสร้างถนนกั้นทางน้ำจนเกิดเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ จึงเรียกชื่อว่า "หนองนารี”

ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์

 

--------------------------------
ที่มา https://www.facebook.com/notes/wison-kositanont/14 จุดสุดประทับใจ-เที่ยวในเมืองเพชรบูรณ์ /10151915930107168
FONTSIZE

 

ข่าวด่วน
 
 
« เมษายน 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30
ดูปฏิทินทั้งหมด

 
 
 
 
ขณะนี้มีผู้ Online อยู่
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์

 

บริการ

สงวนลิขสิทธิ์ © 2559 สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เพชรบูรณ์ 43 หมู่10
ต.สะเดียง อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ 67000
โทรศัพท์ 056 720 613 โทรสาร 056 720 613 มือถือ 086 449 3730 อีเมล์
[email protected]
| นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัย - นโยบายเว็บไซต์ - คำสงวนลิขสิทธิ์ - นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล - แสดงการปฏิเสธความรับผิด |
แสดงผลใน Google Chrome ที่ความละเอียด 1366x768 Pixel